วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประเภทของน้ำตาลตกแต่งหน้าเค้ก

น้ำตาลทรายออร์แกนิก ให้รสหวานเหมือนกับน้ำตาลทรายสีขาว แต่มีเกล็ดใหญ่กว่า สีน้ำตาลอ่อน บางคนเรียกว่าน้ำตาลทรายสีรำ (Raw Sugar) ขั้นตอนการผลิตจะไม่ใช้สารเคมี จึงเหมาะกับคนรักสุขภาพมาก

น้ำตาลทรายขาว (Mill White Sugar) ใช้ทำน้ำเชื่อม จะทำให้น้ำเชื่อมใสน่ากิน รสหวานจัด ส่วนใหญ่มักใช้ในการทำขนมไทย เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด เชื่อมผลไม้ ฉาบ แช่อิ่ม ในอาหารคาวใช้ปรุงอาหารให้มีรสหวาน

น้ำตาลป่นละเอียด (Caster Sugar) คือน้ำตาลทรายขาวเม็ดเล็กละเอียด ส่วนใหญ่ใช้ทำเบเกอรี่

น้ำตาลทรายแดง (Brown Sugar) เป็นน้ำตาลที่ไม่ผ่านการฟอกจนขาว จึงมีกลิ่นหอมหวานจากอ้อย มีความชื้นสูง รสชาติไม่หวานแหลม อมเปรี้ยวนิดๆ เก็บไว้ไม่ได้นาน นิยมใช้ทำขนมที่ต้องการกลิ่นหอม เช่น ใส่เต้าฮวย เฉาก๊วย เค้กหรือคุกกี้ รวมทั้งบางประเภทที่ต้องการสีและกลิ่นหอมเฉพาะ

น้ำตาลไอซิ่ง (Icing Sugar) เป็นน้ำตาลตกแต่งหน้าเค้กทรายขาวป่นละเอียดที่มีส่วนผสมของแป้งอยู่ร้อยละ 3 นิยมโรยบนหน้าขนมให้สวยงาม

น้ำตาลกรวด (Crystalline Sugar) มีรสหวานอ่อนๆ ไม่หวานแหลมเหมือนน้ำตาลทราย คนจีนนิยมใส่ในน้ำซุป นำไปตุ๋นรังนก ตุ๋นสาลี่ ใส่ในน้ำรากบัว ซึ่งเชื่อว่ากินน้ำตาลกรวดแล้วร่างกายเย็นชุ่มชื่น

น้ำตาลที่ไม่ตกผลึก เช่น น้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว มีกลิ่นหอมเฉพาะที่เข้ากันได้ดีกับน้ำกะทิ มักใช้ทำขนมหวานของไทย สำหรับเมเปิลไซรัป น้ำผึ้ง ใช้ราดแพนเค้ก ส่วนคอร์นไซรัปนั้นเหนียวข้น ช่วยให้เนื้อขนมไม่เหลว ใช้ใส่ในเนื้อของพีแคนพาย

แม้น้ำตาลเหล่านี้จะให้รสหวานเหมือนกัน แต่มีกลิ่น รส ที่แตกต่างกันไป และขนมจะหอมละมุน น่ากิน ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่การใช้น้ำตาลให้เข้ากับขนมนั่นเอง

วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560

ที่นอนที่ดี ต้องเหมาะกับสรีระร่างกาย

นักกายภาพบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญด้านสรีระศาสตร์ให้ความรู้ว่า คนเราใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของอายุขัย เพื่อการนอนหลับพักผ่อนหรือใช้เวลาในการนอนหลับประมาณวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งการนอนหลับอย่างเพียงพอจะส่งผลดีต่อระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกาย และเพื่อให้การนอนหลับเกิดประโยชน์สูงสุด นอกเหนือไปจากการนอนให้ถูกต้องตามสุขอนามัยการนอนหลับแล้ว การเลือกที่นอนและชุดเครื่องนอนให้เหมาะกับโครงสร้างสรีระร่างกายของผู้นอน ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การนอนของคุณเกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

หลักของการเลือกที่นอนนั้นก็คือ ที่นอนควรจะรองรับสรีระของผู้นอนอย่างพอดี ที่นอนจะต้องไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป โดยปกติแล้วที่นอนจะมีระดับความนุ่ม 8 ระดับด้วยกัน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. ที่นอนแบบนุ่ม (soft) เหมาะสำหรับคนรูปร่างเล็ก และอายุยังน้อย ที่มีความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังปกติ
2. ที่นอนความนุ่มปานกลาง (medium)เหมาะสำหรับผู้ที่มีรูปร่างพอเหมาะ สมส่วน
3. ที่นอนเนื้อแน่น (firm) เหมาะสำหรับผู้มีรูปร่างสูงใหญ่ และผู้สูงอายุ เพราะสะดวกต่อการลุกนั่ง และทำให้โครงสร้างกระดูกสันหลังมีความคงที่

กลุ่มบุคคลที่ควรพิถีพิถันในการเลือกที่นอนเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ที่เคยประสบปัญหาเกี่ยวกับภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหอบหืด และผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะรุนแรงขึ้นได้
โดยเฉลี่ยการใช้งานของที่นอนจะใช้งานได้ 8-10 ปี (สำหรับที่นอนสปริง) ฉะนั้นการเปลี่ยนที่นอนใหม่ เมื่อที่นอนเดิมเสื่อมสภาพจะเพียงจะช่วยให้หลับสนิท ยังจะส่งผลคุณสดใสกับเช้าวันใหม่ทุกวันอีกด้วย